วันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

บันทึกการเรียนรู้ครั้งที่ 2

วันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
การนำเสนอบทความวิจัยครั้งที่ 1

1 ความคิดเห็น:

Aimon Wanaek กล่าวว่า...

วันนี้เป็นการนำเสนอบทความวิจัย 2 เรื่องคือ เรื่องแรกเป็นบทความวิจัยของ Gili Marbach-Ad, Yosi Rotbain, และ Ruth Stavy เรื่อง “Using Computer Animation and Illustration Activities to Improve High School Students’ Achievement in Molecular Genetics” นำเสนอโดยนางสาวเยาวลักษณ์ วงศ์พรหม และเรื่องที่สองเป็นบทความวิจัยของ Neset Demicri เรื่อง “University Students’ Perceptions of Web-based vs. PaPer-based Homework in a General Physics Course” นำเสนอโดยนายนรินทร์ ศรีสุข ในระหว่างการนำเสนอของผู้นำเสนอแต่ละคนได้มีการอภิปรายไปพร้อมๆ กับการซักถามระหว่างเพื่อนๆ ในชั้นเรียนและผู้นำเสนอรวมทั้งการได้รับข้อเสนอแนะและคำแนะนำจากอาจารย์ผู้สอน ทำให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ในประเด็น ดังต่อไปนี้
1. สืบเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้วจากที่ท่านอาจารย์ผู้สอนได้เสนอแนะเกี่ยวกับการเตรียมเอกสารของผู้นำเสนอให้กับผู้เข้าร่วมฟัง ที่เมื่อครั้งนั้นผู้นำเสนอ 2 คนคือข้าพเจ้าและนางสาวจิตตมาส สุขแสวง ซึ่งไม่ได้เตรียมเอกสารในส่วนที่เป็นบทความให้กับเพื่อนๆ แต่มาสัปดาห์นี้ผู้เข้าร่วมการสัมมนาทุกคนจะได้รับเอกสารบทความวิจัยพร้อมทั้งเอกสารการนำเสนอ (Presentation) โดยโปรแกรม Microsoft PowerPoint จากผู้นำเสนอ แต่กระนั้นก็ยังเกิดความผิดพลาดจากผู้นำเสนอคนหนึ่งในสองคนเนื่องจากเอกสารที่เป็น Presentation ผู้นำเสนอคนนี้ได้ให้กับเพื่อนๆ ร่วมชั้นเรียนในชั่วโมงสัมมนาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีการแก้ไขเพิ่มเติมบางส่วนในการสัมมนาในสัปดาห์นี้ ดังนั้นเอกสาร Presentation ที่ผู้นำเสนอให้กับอาจารย์ผู้สอนจึงเป็นฉบับแก้ไขมีบางเฟรมเพิ่มเติมจากเดิม ดังนั้นระหว่างดำเนินการสัมมนา เอกสารที่ท่านอาจารย์ผู้สอนมีกับ เอกสารที่เพื่อนๆ ร่วมชั้นเรียนมีจึงไม่ตรงกันทำให้การสัมมนาเกิดความไม่ราบรื่น จากเหตุการณ์เป็นบทเรียนอย่างหนึ่งว่า การนำเสนองานครั้งต่อไปผู้นำเสนอควรจะต้องเตรียมเอกสารให้กับผู้เข้าร่วมการสัมมนาให้เหมือนกันเพื่อให้เกิดความราบรื่น และดำเนินการสัมมนาไปได้ด้วยดี
2. การนำเสนองานต่อหน้าสาธารณะชนบุคลิกเป็นสิ่งสำคัญ ลักษณะการตอบคำถามไม่ควรรีบร้อนในการตอบ ขณะพูดไม่ควรพูดเร็วจนเกินไปจะทำให้เสียบุคลิกภาพได้
3. การนำเสนอบทความวิจัย ผู้นำเสนอควรจัดลำดับหัวข้อการนำเสนอตามหัวข้อของบทความวิจัยต้นฉบับ จัดกลุ่มหัวข้อให้ถูกต้องตามเนื้อหาที่ผู้วิจัยได้นำเสนอไว้ในบทความวิจัย และควรมีความชัดเจนในทุกหัวข้อ ควรนำเสนอให้มีความหมายตรงกับการนำเสนอในบทความวิจัยโดยผู้วิจัย
4. การนำเสนอบทความวิจัยภาษาอังกฤษผู้นำเสนอต้องอ่านและทำความเข้าใจในงานให้ถ่องแท้ เมื่อไม่แน่ใจในสิ่งที่ได้อ่านและทำความเข้าใจควรปรึกษาผู้รู้หรือผู้ที่มีความชำนาญทางด้านภาษาอังกฤษเพื่อไม่ให้เกิดการเข้าใจที่ผิดๆ เพราะเมื่อออกมานำเสนอจะทำให้ผู้ฟังมีความเข้าที่ผิดๆ ไปด้วย และบางครั้งผู้นำเสนอยังแปลความหมายของคำในภาษาอังกฤษมาเป็นภาษาไทยในความหมายที่ไม่สอดคล้องกับงานวิจัย ตัวอย่างเช่น Illustration Activities ผู้นำเสนอให้ความหมายว่า “กิจกรรมการเขียนภาพบรรยาย” แต่ในความหมายของงานวิจัยควรใช้คำว่า “กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับภาพ” จะเป็นการสื่อความหมายได้ดีกว่า
5. บทความวิจัยทั้งสองบทความมีความแตกต่างกันคือ เรื่อง “Using Computer Animation and Illustration Activities to Improve High School Students’ Achievement in Molecular Genetics” นำเสนอโดยนางสาวเยาวลักษณ์ วงศ์พรหม เป็นงานวิจัยที่มีความน่าสนใจตรงที่มีการผสมผสานกันระหว่างการวิจัยเชิงคุณภาพและการวิจัยเชิงปริมาณ ลักษณะของข้อมูลก็จะมีทั้งข้อมูลเชิงคุณภาพที่ใช้วิธีการเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์จากแบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง (Semi-Structure Interviews) และข้อมูลเชิงตัวปริมาณ ที่มีการวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยใช้แบบสอบปรนัย (Multiple Choice Questionnaire) กับแบบสอบอัตนัย (Open-Ended Questionnaire) และเรื่องที่สองเป็นบทความวิจัยของ Neset Demicri เรื่อง “University Students’ Perceptions of Web-based vs. Paper-based Homework in a General Physics Course” นำเสนอโดยนายนรินทร์ ศรีสุข เป็นงานวิจัยเชิงปริมาณที่เป็นการสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนเกี่ยวกับการส่งการบ้านโดยผ่านทางระบบเครือข่าย (Web-based) กับการส่งการบ้านเป็นกระดาษ (Paper-based) ในรายวิชาฟิสิกส์ทั่วไป1 ของนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง จากแบบสอบถามแบบประมาณค่า 5 ระดับและใช้สถิติทางการวิจัยช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลและนำเสนอในรูปแบบของตาราง ซึ่งผลการนำเสนอข้อมูลในบทความวิจัยนั้นยังสื่อความหมายได้ไม่ชัดเจนนัก สิ่งที่ขาดไปคือเกณฑ์ในการประเมินค่าในการตีความหมายของค่าเฉลี่ยในแต่ละข้อคำถามที่นำเสนอในตารางทำให้ผู้อ่านบทความอาจไม่เข้าใจว่าตัวเลขที่เป็นค่าเฉลี่ยนั้นมีความหมายว่าอย่างไร
สิ่งที่ข้าพเจ้าประทับใจในการเรียนการสอนครั้งนี้คือ ข้าพเจ้าได้ความรู้จากสิ่งที่เพื่อนนำเสนอบทความวิจัยในอีกลักษณะหนึ่งจากแต่ละคน ขอขอบคุณท่านอาจารย์ผู้สอนที่ได้ให้คำแนะนำในสิ่งที่ดีและถูกต้องให้กับเพื่อนที่นำเสนอและตัวข้าพเจ้าเองจะได้นำไปใช้เป็นแนวทางในการทำงานครั้งต่อไปให้ดีขึ้นกว่าเดิม