วันจันทร์ที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

บันทึกการเรียนรู้ครั้งที่ 3

วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551
การนำเสนอบทความวิจัยครั้งที่ 1

1 ความคิดเห็น:

Aimon Wanaek กล่าวว่า...

การนำเสนอบทความวิจัยในครั้งนี้เป็นการนำเสนอบทความเรื่อง “The Effect of Science-Technology-Society Teaching on Students’ Attitudes toward Science and Certain Aspect of Creativity” ของ Mee-Kyeong Lee และ Ibrahim Erdogan จาก International Journal of Science Education Vol.29 , No. 11 , 3 September 2007 โดยนายเกียรติศักดิ์ ชิณวงศ์เป็นผู้นำเสนอ และหลังจากนั้นเป็นการนำเสนอกรอบแนวคิดเกี่ยวกับการวิจัยของนางสาวเยาวลักษณ์ วงศ์พรหม ในหัวข้อ “การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญรายวิชาชีวเคมีเพื่อพัฒนาการคิดขั้นสูงของนักศึกษาสาขาวิชากายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยคริส-เตียน” ในระหว่างที่มีการนำเสนอของผู้นำเสนอทั้งสองคน ก็ได้มีการอภิปรายซักถามไปพร้อมๆ กัน สิ่งที่ข้าพเจ้าได้เรียนรู้จากการ่วมฟังการอภิปรายและการซักถามจากท่านอาจารย์ผู้สอนและเพื่อนร่วมชั้นเรียนทำให้ข้าพเจ้าได้รับทราบข้อมูลและเรียนรู้ในสิ่งต่อไปนี้
1. บทความวิจัยที่นำเสนอโดยนายเกียรติศักดิ์ ชิณวงศ์ เป็นบทความวิจัยกึ่งเชิงทดลอง (Quasi-Experimental Research) ที่มีการเปรียบเทียบผลการสอนตามแนวคิด STS (Science-Technology-Society) กับการสอนแบบดั้งเดิม (Traditional Instruction) ที่มีต่อเจตคติทางวิทยาศาสตร์และความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียน โดยกลุ่มที่ศึกษาได้แก่ ครูฟิสิกส์จำนวน 7 คน และนักเรียนจำนวน 591 คนจาก 14 ห้องเรียน โดยแบ่งกลุ่มวิจัยออกเป็นสองกลุ่มคือกลุ่มทดลองที่ได้รับการสอนแบบตามแนวคิด STS และกลุ่มควบคุมที่ได้รับการสอนแบบดั้งเดิมโดยใช้ครูคนเดียวกันในการสอนทั้งสองวิธี มีการวัดเจตคติทางวิทยาศาสตร์โดยใช้แบบวัดเจตคติทางวิทยาศาสตร์ (The Attitude Toward Science Inventory, ASI) และทดสอบความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนโดยใช้เครื่องมือที่เรียกว่า The Assessment of Student Creativity (ASC) ทั้งก่อนเรียนและหลังเรียน เปรียบเทียบผลที่ได้ แล้วนำเสนอผลในรูปแบบของตารางและกราฟเพื่อนแสดงให้เห็นความแตกต่างอย่างชัดเจน สิ่งที่ได้เรียนรู้ระหว่างการอภิปรายร่วมกันระหว่างผู้นำเสนอ ผู้ฟังและอาจารย์ผู้สอน มีดังนี้
- Aspects of Creativity ผู้นำเสนอใช้คำว่า “ทักษะการสร้างสรรค์ของผู้เรียน” ซึ่งควรใช้คำว่า “ความคิดสร้างสรรค์” แทนเพราะจะทำให้สื่อความหมายได้ดีกว่า
- ในส่วนของการวัดเจตคติทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่มีปรากฏรายละเอียดในบทความวิจัยที่นำมานำเสนอดังนั้นจึงควรต้องมีการค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนเมื่อเกิดความสงสัยจากผู้ฟัง
- จากการวิจัยเกี่ยวกับการศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในปัจจุบันนี้ทำให้ทราบว่าการสอนแบบดั้งเดิมไม่ดีแต่ก็ยังมีงานวิจัยที่มีการเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจากการสอนแบบดั้งเดิมกับการสอนแบบอื่น ในการวิจัยที่จะเกิดขึ้นต่อไปควรจะศึกษาเปรียบเทียบกับวิธีสอนอื่น เช่น การสอนแบบสืบเสาะกับการสอนตามแนว STS หรือเปรียบเทียบการสอนตามแนว STS กับเกณฑ์ที่ตั้งไว้ คือ ผู้สอนมีเกณฑ์ว่าเด็กควรจะมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนมากกว่าหรือเท่ากับเกณฑ์ที่ตั้งไว้ กำหนดเกณฑ์ว่าเด็กควรได้อะไรจากการสอนแบบนี้ แล้วดูว่าเด็กได้ตามที่ตั้งเกณฑ์ไว้หรือไม่ อะไรบ้างที่ยังไม่ได้ตามเกณฑ์ ควรปรับปรุงหรือเพิ่มเติมส่วนไหน แนวทางนี้จะดีกว่า จะทำให้งานวิจัยมีคุณค่ามากกว่า เป็นต้น
2. จากการนำเสนอกรอบแนวคิดเกี่ยวกับงานวิจัยของนางสาวเยาวลักษณ์ วงศ์พรหม ทำให้เรียนรู้ว่าสิ่งที่ควรต้องทำคือ
- ในเรื่องของการจัดการเรียนการสอนควรศึกษาในประเด็นของ เป้าหมายของการจัดการเรียนการสอน เนื้อหาวิชา วิธีการจัดการเรียนรู้ และการประเมินผลการเรียนรู้
- ในส่วนของเนื้อหารายวิชาควรศึกษาว่ารายวิชาที่จะนำมาใช้ในการวิจัยมีคุณลักษณะของรายวิชานั้นๆ อย่างไร นักศึกษาต้องได้อะไรบ้างเมื่อเรียนรายวิชานั้นจบแล้ว เนื้อหาเป็นอย่างไร จุดประสงค์ของรายวิชาคืออะไร เพื่อจะได้จัดและออกแบบการวิจัยให้สอดคล้องต่อธรรมชาติของวิชานั้นๆ
- ส่วนที่เกี่ยวกับการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญควรศึกษาว่า มีนักการศึกษาได้กล่าวถึงทฤษฎีนี้ว่าอย่างไรบ้างแล้วส่วนใดที่เราจะนำมาใช้ในการวิจัยของเรา
- ควรศึกษาสภาพปัจจุบันว่ามีการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญหรือไม่ในบริบทของสถานที่ที่เราจะทำการวิจัย
- ในส่วนของกลุ่มที่ศึกษาควรใช้กลุ่มคนที่เกี่ยวข้องกับเราโดยตรงเช่น เราในฐานะที่เป็นบุคลากรของหน่วยงานเอกชนก็ควรที่จะศึกษาเฉพาะกลุ่มที่เป็นหน่วยงานเอกชนเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องใช้กลุ่มที่ศึกษาเป็นหน่วยงานราชการเพราะบริบทของหน่วยงานแตกต่างกัน จะทำให้ผลการวิจัยไม่เป็นไปในทางเดียวกัน
ในการวิจัยที่จะได้ทำต่อไปนั้นควรต้องมีการศึกษาทฤษฎีและหลักการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่เราจะศึกษาให้เข้าใจอย่างถ่องแท้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการออกแบบงานวิจัยต่อไป
จากการสัมมนาในวันนี้ทำให้ข้าพเจ้าได้เรียนรู้ในสิ่งที่ควรปฏิบัติและจะได้นำไปปรับใช้กับงานของตัวเองเพื่อให้ได้กรอบแนวคิดที่จะทำวิจัยที่ดีและชัดเจน ขอขอบคุณ ท่านอาจารย์ผู้สอนที่ได้ให้ข้อเสนอแนะและ แนวทางที่เป็นประโยชน์ในการทำงานวิจัยต่อไป และเพื่อนๆ ที่ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม