วันอังคารที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

บันทึกการเรียนรู้ครั้งที่ 9

วันที่ 26 มกราคม พ.ศ. 2552
การนำเสนอบทความวิจัยครั้งที่ 2

1 ความคิดเห็น:

Aimon Wanaek กล่าวว่า...

การสัมมนาในวันนี้เริ่มต้นที่เวลา 13.00 น. และใช้เวลาในการสัมมนาค่อนข้างมากทีเดียว ประมาณ 3 ชั่วโมงกว่า ๆ แต่ข้าพเจ้าก็ไม่รู้สึกเบื่อแต่อย่างใด เนื่องจากเรื่องที่พวกเรานิสิตทั้ง 5 คนนำมาเสนอในวันนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจคือ การนำเสนอบทความวิจัยครั้งที่ 1 ตามกำหนดในตารางกิจกรรมที่เวลาถูกเลื่อนออกมา ซึ่งภายหลังจากที่ได้อภิปรายร่วมกันเสร็จแล้วก็ได้มีการตกลงเรื่องเวลากับกิจกรรมที่ต้องปฏิบัติที่เหลือในภาคเรียนนี้ การนำเสนอเรียงตามลำดับผู้นำเสนอมีดังนี้
1. บทความวิจัยเรื่อง “The Impact of Internet Virtual Physics Laboratory Instruction on the Achievement in Physics, Science Process Skill and Computer Attitudes of 10th-Grade Students.” จากเอกสารประกอบการนำเสนอที่ได้รับ ไม่ปรากฏชื่อเจ้าของบทความและที่มาของบทความ บทความนี้นำเสนอโดย นายนรินทร์ ศรีสุข Presentation ของผู้นำเสนอกำหนดประเด็นการนำเสนอไม่ชัดเจนเนื่องจากเป็นการนำเสนอโดยโปรแกรมเอกสาร (Microsoft Word) ทำให้การนำเสนอไม่น่าสนใจ แต่การอธิบายระหว่างการนำเสนอฟังแล้วอธิบายได้เข้าใจดี ข้อเสนอแนะจากการอภิปรายคือ ควรมองงานวิจัยให้ได้ข้อความรู้ในการปรับปรุงการเรียนการสอนต่อไป
2. บทความวิจัยเรื่อง “A Case-based Approach Increases Student Learning Outcomes and Comprehension of Cellular Respiration Concept” ของ Brian J.R. จากวารสาร BIOCHEMISTRY AND MOLECULAR BIOLOGY EDUCATION Vol. 35, No.3, pp. 181-186, ปี 2007 นำเสนอโดยนางสาวเยาวลักษณ์ วงศ์พรหม ความรู้ที่ได้จากการอภิปรายมีดังนี้
- บทความนี้เป็นบทความของนักวิทยาศาสตร์ที่เป็นครู มีวัตถุประสงค์เพื่อสำรวจผลการเรียนรู้ของนักเรียนเมื่อใช้การสอนแบบกรณีศึกษา (Case-based Approach) เกี่ยวกับการหายใจระดับเซลล์ เป็นงานวิจัยเชิงปริมาณที่มีการนำเสนอผลการวิจัยเชิงตัวเลขค่อนข้างมากกว่าการอธิบายถึงสาเหตุและผลที่เกิดขึ้น
- บทความที่ต้องศึกษาที่เกี่ยวข้องกับการทำวิจัยทางวิทยาศาสตร์ศึกษาควรเป็นงานวิจัยทางการศึกษาที่เป็นงานวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งต้องการการทำความเข้าใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หาเหตุและผลมาอธิบาย มองบริบทโดยรอบของการวิจัย แล้วนำเสนอข้อค้นพบใหม่ที่ได้ และควรลดการนำงานเชิงปริมาณมานำเสนอเนื่องจากเป็นงานวิจัยที่ไม่ค่อยได้ข้อค้นพบใหม่ๆ
- ผลการเรียนรู้ของนักเรียน (Student Learning outcomes) ประกอบด้วย แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ของนักเรียน (Concept), และการใช้ทักษะการคิดขั้นสูง (Higher Order Thinking Skill)
- ครูในคณะวิทยาศาสตร์ควรมี 2 บทบาท คือ บทบาทของการเป็นนักวิทยาศาสตร์และบทบาทของการเป็นผู้สอน
3. บทความวิจัยเรื่อง “ความรู้เนื้อหาบูรณาการกับการสอนของครูก่อนประจำการเกี่ยวกับการใช้แบบจำลองอนุภาคในการสอนเคมี (Preservice Teachers’ Pedagogical Content Knowledge of Using Particle Models in Teaching Chemistry)” ของ Onno De Jong, Jan H. Van Driel และ Nico Verloop จากวารสาร Journal of Research in Science Teaching Vol. 42, No. 8 หน้า 947-964 ปี 2005 บทความนี้นำเสนอโดยนางสาวจิตตมาส สุขแสวง การนำเสนอเริ่มต้นด้วยการเกริ่นนำถึงความรู้เนื้อหาบูรณาการกับการสอน (Pedagogical Content Knowledge; PCK) จากนั้นเป็นการนำเสนอ กรอบแนวคิดทฤษฎีในประเด็นต่อไปนี้
- ธรรมชาติและการพัฒนา PCK
i. ความหมายของ PCK
ii. องค์ประกอบของ PCK
iii. การพัฒนา PCK ของครูก่อนประจำการ
- การใช้แบบจำลองอนุภาคเพื่อทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างปรากฏการณ์ทางธรรมชาติทางธรรมชาติและการคงอยู่ของนุภาค
จากนั้นเป็นการนำเสนอระเบียบวิธีวิจัยของบทความนี้ประกอบด้วย คำถามวิจัย กลุ่มที่ศึกษา เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงผลการวิจัย การสรุปและการอภิปรายผล ตลอดจนการนำไปใช้กับการศึกษาของครู
ภายหลังการนำเสนอมีข้อวิจารณ์เกี่ยวกับการนำเสนอคือ Presentation ที่สร้างจากโปรแกรม PowerPoint มีแต่ตัวหนังสือมากเกินไป อาจนำเสนอโดยการใช้ Concept Mapping หรือภาพ จะทำให้การนำเสนอน่าสนใจมากกว่านี้
4. บทความวิจัยเรื่อง “ความพยายามในการให้คำจำกัดความเกี่ยวกับการสอนวิทยาศาสตร์ที่เน้นการสืบเสาะหาความรู้ของครูก่อนประจำการระดับประถมศึกษา (Elementary Preservice Teachers’ Struggles to Define Inquiry-based Science Teaching) ” ของ Michael T. Hayes จากวารสาร Journal of Science Teacher Education, Vol.13, No.2 หน้า 147-165 ปี 2002 ซึ่งเป็นบทความที่ข้าพเจ้าเป็นผู้นำเสนอ หัวข้อที่นำเสนอประกอบด้วย บทนำของการวิจัย กรอบแนวคิดเกี่ยวกับบทบาทของครูในรูปแบบการสืบเสาะหาความรู้ในการสอน วัตถุประสงค์ของการวิจัย กลุ่มที่ศึกษา การเก็บรวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ข้อมูล ผลการวิจัยและการอภิปรายผล บทสรุปของการวิจัยเกี่ยวกับความพยายามของการให้คำจำกัดความปัจจัยของการสืบเสาะหาความรู้
ข้าพเจ้านำเสนอด้วยโปรแกรม MindManager ทำให้เห็นประเด็นที่ต้องการนำเสนอชัดเจน (ตัวอย่างรูปแบบของการนำเสนอด้วยโปรแกรม MindManager แสดงดังภาพ) ซึ่งแตกต่างจากคนอื่นๆ ที่นำเสนอด้วย โปรแกรม PowerPoint ข้อควรปรับปรุงในการนำเสนองานของข้าพเจ้า คือ การใช้ภาษาเขียนในการถอดความจากบทความภาษาอัง ควรใช้ภาษาที่เข้าใจง่ายขึ้นและการสรุปหัวข้อตามรายงานการวิจัยยังไม่ครบถ้วน

ภาพแสดงตัวอย่างรูปแบบการนำเสนอโดยโปรแกรม MindManager


5. บทความเรื่อง “Socioscience and Ethics in Science Classrooms: Teacher Perspectives and Strategies” ของ Troy D. Sadler, Aidin Amirhokoohi, Masha Kazempour และ Kathleen M. Allspaw จากวารสาร Journal of Science Teacher Education, Vol.43, No.4 หน้า 353-376 ปี 2006 นำเสนโดยนายเกียรติศักดิ์ ชิณวงศ์ บทความนี้ผู้นำเสนอได้กล่าวถึง คำถามวิจัย ประเภทของงานวิจัยเป็น การวิจัยแบบมีส่วนร่วม (Participation Action Research) กลุ่มที่ศึกษา เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา การวิเคราะห์ข้อมูล ผลที่ได้จากการศึกษา รวมถึงการนำเสนอตัวอย่างของ Interview Protocol สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการนำเสนอสรุปเป็นประเด็นได้ดังนี้
- Inductive Analysis เป็นการวิเคราะห์คำตอบจากข้อมูลจริงไปสู่ข้อมูลทั่วๆ ไป (Generalize)
- Induction ในการวิจัยนี้คือ ข้อมูลดิบหมายถึงข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์โดยตรง
- Constant Comparative Method เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีการเปรียบเทียบค่าคงที่
- Interview Protocol เป็นต้นแบบของการสัมภาษณ์ใช้ในการสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้าง (Semi-Construction Interview)
- Participation Action Research เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างผู้วิจัยกับครูในโรงเรียน ผู้วิจัยไปพัฒนาครูให้ได้งานวิจัยในชั้นเรียน นำเทคนิคและวิธีสอนไปให้ครูได้นำไปใช้ในงานของตนเอง ในขณะเดียวกันผู้วิจัยได้พัฒนาให้ได้งานวิจัยของตนด้วยเช่นกัน ส่วน Collaboration เป็นการร่วมมือกันทำงานชิ้นเดียวกัน
- การอ่านบทความวิจัยมากจะทำให้ได้วิธีการในการเก็บข้อมูล การนำเสนอข้อมูล แลควรอ่านวิจัยที่ตรงกับงานของเรา ควรอ่านให้ลึกซึ้งแล้วนำมาใช้กับงานของเรา
ส่วนที่ทุกคนขาดไปในการนำเสนอบทความวิจัยครั้งนี้คือ ขาดการวิจารณ์บทความที่นำมาเสนอ ควรมีการวิจารณ์ในทุกหัวข้อที่นำมาเสนอให้ชัดเจน